เทวรูป ที่มีปฏิมาลักษณะเป็นบุรุษทรงเครื่องอลังการอย่างมหาราช มีลวดลายเครื่องประดับศิลปะศรีวิชัย ทรงอุณหิสและครอบจุลมงกุฎดอกบัวบาน ๓ ชั้น ประทับนั่งบนบัลลังก์ดอกบัวคว่ำดอกบัวหงาย นี่คือรูปเคารพ “ ตาขุนโหร ” ที่มีการสร้างมาในสมัยการสถาปนาหลักเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ( พ.ศ.๒๕๒๘ – พ.ศ.๒๕๔๓ )
ในปัจจุบัน มีกระแสการนับถือตาขุนโหรกันมากขึ้น ความเป็นมาของตาขุนโหรเป็นเช่นใด ต้องย้อนไปในช่วงสถาปนาหลักเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ -พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งในเวลาดังกล่าว องค์จตุคามรามเทพ พร้อมด้วยคณะเทวดารักษาเมืองได้ลงมาประทับทรง เพื่อให้มีการจัดสร้าง “ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ” โดยขับเคลื่อนผ่าน “ ชมรมศรีธรรมราช ๒๕๒๘ ” โดยมี พ.ต.อ. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ( ยศในขณะนั้น ) และสมาชิกชมรมเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่องค์จตุคามรามเทพทรงบัญชา ยุคแรกของการดำเนินพิธีประทับทรงอย่างเป็นทางการ ได้ใช้โกดังด้านหลังวัดชะเมาเป็นสถานที่ประกอบพิธี
การประทับทรงในตอนนั้น มีเทวดารักษาเมืองหลายองค์ผลัดกันมาบอกเล่า หรือสั่งความต่างๆ สิ่งที่ทุกองค์บอกตรงกัน คือ ขอให้มีการสถาปนาหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาเสียใหม่ ก่อนที่ดาวหางฮัลเลย์ ( Comet Halley ) จะปรากฏ สร้างความหนักใจแก่คณะชมรมศรีธรรมราช ๒๘ อย่างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นไม่ได้มีความรู้ทางพิธีกรรมมากนัก การประทับทรงในค่ำคืนหนึ่ง หนึ่งในคณะเทวดารักษาเมืองได้ประทับทรง ขอให้ พ.ต.อ. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ( ยศในขณะนั้น ) หาไม้ตะเคียนท่อนหนึ่ง ปักลงในดินตามฤกษ์ผาเวลาที่กำหนด เมื่อพ.ต.อ. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล รับปาก ในการประทับทรงภายหลัง จึงมีการเฉลยว่า เทวดารักษาเมืองที่ทำอุบายในคืนนั้น คือเทวดาที่มีฉายาว่า “ ตาขุนโหร ”
เมื่อองค์จตุคามรามเทพได้บัญชาให้มีการสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมา เรื่องฤกษ์ยามพิธีกรรมต่างๆ องค์จตุคามรามเทพมอบหมายให้ “ ตาขุนโหร ” เป็นผู้กำหนดเรื่องฤกษ์เวลา และรายละเอียดการประกอบพิธีกรรม ต่อมาเมื่อมีความจำเป็น ต้องสร้างวัตถุมงคลของหลักเมืองนครศรีธรรมราช องค์จตุคามรามเทพทรงให้สร้างผ้ายันต์จันทรภาณุผืนเล็กขึ้นก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับพิธีประกาศเทวดาผู้รักษาเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง ๔ ทิศ ให้รับทราบการสถาปนาหลักเมืองใหม่แห่งนครตามพรลิงค์ ต่อมาเมื่อมีการแกะสลักเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้มีการสร้างเศียรจตุคามรามเทพขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบให้กับคณะอาจารย์ผู้แกะสลักเสาหลักเมือง เหตุเพราะคณะศิษย์หลักเมืองประสงค์อยากได้เศียรจตุคามรามเทพไว้บูชา องค์จตุคามรามเทพจึงอนุญาตให้จัดสร้างเศียรเพื่อให้คณะศิษย์ รูปเคารพถัดมาที่มีการสร้าง คือรูปเคารพ “ ตาขุนโหร ”
รูปเคารพตาขุนโหรในยุคแรก มีสองแบบ คือแบบประทับนั่งบนบัลลังก์บัวคว่ำ – บัวหงายธรรมดา กับแบบมีซุ้มประภาสมณฑลด้านหลัง ในการแกะสลักหลักเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีการแบ่งไม้ตะเคียนต้นหลักเมืองมาท่อนหนึ่ง ขนาดสูงเมตรเศษ นำมาแกะสลักเป็นรูปเคารพตาขุนโหร เพื่อเป็นที่บูชาของคณะศิษย์หลักเมืองทั้งหลาย ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้มีการสร้างผ้ายันต์เทพบุรุษมีเศียรสองชั้นประทับกลางวงวัฎจักร ๑๒ นักษัตรและราหู ๘ ทิศ ให้สาธุชนได้บูชา ผู้คนในยุคนั้นขนานนามว่า “ ผ้ายันต์ตาขุนโหร ” เพราะผ้ายันต์ออกพร้อมกับช่วงที่มีการแห่รูปเคารพตาขุนโหรที่แกะสลักจากไม้ตะเคียนพอดี
มีผู้ที่เข้าใจผิดหลายท่าน เข้าใจว่า “ ตาขุนโหร ” คือราชครู หรือ ราชปุโรหิต ประจำตัวขององค์จตุคามรามเทพ แท้จริงแล้ว ต้องทำความเข้าใจเรื่ององค์จตุคามรามเทพให้ถูกต้องเสียก่อน เมื่อท่านเห็นบานประตูขึ้นสู่ลานประทักษิณองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช บานด้านหนึ่ง เป็นรูปเคารพมีสองพระพักตร์ ทรงเปลวเพลิง จักร ศร และปะคำ นั่นคือรูปเคารพขององค์จตุคาม ส่วนบานอีกด้าน เป็นรูปเคารพมีสี่พระพักตร์ ทรงบัณเฑาะว์ ดอกบัว คอน และ สิ่วแกะสลัก นั่นคือรูปเคารพองค์รามเทพ การออกแบบรูปเคารพของหลักเมืองนครศรีธรรมราช จะอ้างอิงมาจากรูปเคารพที่บานประตูทางขึ้นลานประทักษิณองค์พระบรมธาตุเป็นหลัก จึงตบแต่งด้วยเครื่องทรงตามศิลปกรรมศรีวิชัย ให้สมกับฐานะผู้พิชิตและสร้างบ้านเมืองเมื่อครั้งอดีตกาล
ในคณะเทวดารักษาดินแดนศรีวิชัย องค์จตุคามถือเป็นประมุขสูงสุด ส่วนผู้ที่มีอำนาจรองลงมา คือ “ องค์รามเทพ ” ในยุคที่มีการประทับทรง องค์จตุคาม หรือ องค์ราชันดำ ตรัสเรียกพระอนุชาของท่านว่า “ ตาขุนโหร ” เพราะองค์รามเทพทรงชำนาญทางด้านศิลปกรรม วิทยาคม โดยเฉพาะ “ โหราศาสตร์ ” องค์รามเทพจะทรงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ถึงขั้นการกำหนดวันเวลาการประกอบพิธี องค์จตุคามฯ ทรงไว้ใจให้องค์รามเทพเป็นผู้กำหนดเองทั้งหมด ในการสร้างวัตถุมงคลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีการสร้างรูปเคารพองค์รามเทพ หรือ ตาขุนโหร เป็นเอกเทศ เพื่อให้คณะศิษย์ได้บูชาเทวดาผู้ถ่ายทอดโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ศิลปกรรมให้แก่คณะศิษย์หลักเมือง
ในบรรดาเทวดารักษาอาณาจักรทะเลใต้โบราณ ไม่มีเทวดาองค์ใดในคณะเทพรักษาเมืองที่มีรูปเคารพเป็นเอกเทศเช่นองค์รามเทพ มูลเหตุทำไม ? องค์จตุคามต้องให้เกียรติองค์รามเทพ หรือ ตาขุนโหรขนาดนั้น เพราะในยุคที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพ ทั้งองค์จตุคามและองค์รามเทพทรงปกครองอาณาจักรร่วมกัน หากเปรียบเทียบในประวัติศาสตร์ไทย การที่พระมหากษัตริย์สองพระองค์ปกครองร่วมกันใช่ว่าจะไม่เคยเกิด หากนึกไม่ออก ขอให้ท่านนึกถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ
สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ สมเด็จพระเอกาทศรถ ส่วนในประวัติศาสตร์สากล การปกครองร่วมกันระหว่างผู้นำสองคน มีปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์โรมัน เช่น จักรพรรดิมาร์คัส ออเรลิอัส และ จักรพรรดิลูซีอัส เวอรัส แห่งราชวงศ์เนอร์วา แอนโทนีน , จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 2 และ จักรพรรดิคอนสแตนตินัสที่ ๒ แห่งราชวงศ์คอนสแตนติเนียน , จักรพรรดิชาร์เลอมาญ และ จักรพรรดิลูทวิชที่ ๑ จากราชวงศ์การอแล็งเฌียง แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ , จักรพรรดิบาซิลที่ ๒ และ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ ๘ จากราชวงศ์มาซิโดเนียน แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ เป็นต้น
หากท่านสังเกต ปฎิมากรรมรูปเคารพตาขุนโหรให้ละเอียด เครื่องทรง เครื่องประ ดับ คือเครื่องทรงของกษัตริย์ขัตติยราช ไม่ใช่เครื่องพรตของสมณะชีพราหมณ์ ส่วนท่านั่งมหาราชลีลา คือท่าของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่ท่าของนักบวช เพียงท่านพินิจวิเคราะห์รูปเคารพออก ท่านจะทราบทันที ตาขุนโหรผู้นี้ ไม่ใช่นักบวช นักพรตหรือโหราจารย์ที่เป็นข้าราชบริพาร ต้องเป็นผู้ที่มีศักดิ์ใกล้เคียงกัน จึงสามารถจะทรงเครื่องกษัตริย์และประทับนั่งในท่าของผู้มีอำนาจได้ ซึ่งบริพารขององค์จตุคามรามเทพที่เป็นโหราจารย์ถามว่ามีหรือไม่? ขอตอบว่ามี บริพารที่เป็นโหร มีชื่อเรียกว่า “ พญาโหรา ” เป็นพระเสื้อเมือง สถิตศาลจตุโลกเทพมุมทิศพายัพ ตำแหน่งของพระอโมฆสิทธิพุทธะ เนื่องจากพญาโหราเป็นข้าบริพาร เลยไม่ได้มีบทบาทมากเท่ากับองค์รามเทพ หรือ ตาขุนโหร จะมีหน้าที่เป็นครั้งคราวไปเท่านั้น
ดังนั้น การบอกว่า ตาขุนโหรเป็นครูขององค์จตุคามนั้นจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว หากบอกใหม่ว่า ตาขุนโหร เป็นครูท่านสำคัญของคณะศิษย์หลักเมืองนครศรีธรรมราช นี่จึงเป็นการระบุที่ถูกต้อง เรื่องราวของเทวดารักษาศรีวิชัยยุคโบราณ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เล่ากันภายในคณะศิษย์หลักเมืองนครศรีธรรมราช บางทีผู้ที่ได้ยินเพียงผ่านโสตประสาท อาจนำไปเขียนขยายจนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น ดังนั้นผู้ที่ได้ยินได้ฟัง อย่าพึ่งปลงใจเชื่อ ควรแสวงหาข้อมูลให้มาก เพื่อให้รอดพ้นจากมายาของนักเขียนนิทานทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง ที่ขอแทรกไว้เป็นกระสายตอนท้ายของบทความนี้
การดำเนินการของคณะศิษย์หลักเมืองนครศรีธรรมราช มีแกนกลางคือ พ.ต.อ. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ( ยศในขณะนั้น ) และคณะกรรมการในชมรมศรีธรรมราช ๒๘ นอกจากนี้ ยังมีผู้ช่วยในกิจการด้านต่างๆ เช่น ฝ่ายศิลปกรรม มีหน้าที่ในการแกะสลักเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช และทำงานฝีมือตามที่ได้รับมอบหมาย , ฝ่ายพิธีกรรม มีหน้าที่ในการประกอบมงคลพิธีในวาระต่างๆ , ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่แจ้งข่าวความเคลื่อนไหว และพิธีกรรมให้ทราบ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะทำตามคำสั่งที่องค์จตุคามรามเทพเป็นผู้สั่งการลงมา มี พ.ต.อ. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ( ยศในขณะนั้น ) เป็นผู้ติดตามผลการดำเนินการ หลายเรื่องราวที่มีการบอกเล่ากัน บางเรื่องมาจากฝ่ายที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะในยุคสร้างศาลหลักเมือง บ้านพักผู้กำกับนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์อำนวยการหลักเมืองที่เปิดพร้อม ๒๔ ชั่วโมง ผู้คนยากดีมีจนแค่ไหนสามารถเข้าไปร่วมบริจาค ร่วมจัดสร้าง หรือแม้กระทั่งการขอความช่วยเหลือก็ย่อมทำได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เรื่องของตาขุนโหรจะเกิดการเข้าใจผิด หรือ แต่งเติมไปไกลกว่าที่ควร และไม่ใช่เรื่องตาขุนโหรที่มีการเล่าเสริมเติมแต่งไปไกล ยังมีอีกหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องตำหนิของวัตถุมงคล , เรื่องการสร้างตัวเกิด , เรื่องที่มาของพังพระกาฬ เป็นต้น
ตาขุนโหร คือ ฉายาที่องค์จตุคามฯ ราชันดำแห่งทะเลใต้ ทรงตั้งให้แก่องค์รามเทพพระอนุชา ในฐานะที่องค์รามเทพทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรม ไสยเวท และโหราศาสตร์ เป็นผู้กำหนดฤกษ์ยาม กำหนดพิธีกรรมต่างๆ คณะศิษย์หลักเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้เทิดทูนองค์รามเทพไว้อย่างสูง ในฐานะครูอาจารย์ทางศิลป์องค์สำคัญ โดยปกติแล้ว คณะศิษย์หลักเมืองจะบูชาองค์จตุคามรามเทพคู่กัน เปรียบเสมือนตัวกับเงานั่นเอง ไม่ว่าสิ่งใดที่ องค์ราชันดำจตุคามสร้าง จะต้องมีองค์รามเทพร่วมด้วยเสมอ
*ขอคำนับแด่ พล.ต.ท. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ประกาศกแห่งองค์จตุคามรามเทพ และ คณะกรรมการชมรมศรีธรรมราช ๒๘ ทุกๆท่าน ที่ได้ทุ่มเทและฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชจนสำเร็จลุล่วง คู่บ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยความเคารพ
ภูมิ จิระเดชวงศ์